#
Reports

10 อันดับเมืองใหญ่ ขึ้นทำเนียบใช้กัญชามากที่สุดในโลก

หลายพื้นที่ในหลายประเทศมีความต้องการตัวบทกฎหมายเพื่อควบคุมการใช้กัญชา เน้นถึงความจำเป็นในการปฏิรูปกฎหมายเกี่ยวกับกัญชาทั่วโลก แต่จะมีความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน ประเด็นดังกล่าวส่งผลให้สหประชาชาติกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง จำเป็นต้องเข้าถึงอัตราตัวเลขผู้ใช้กัญชาจากทั่วทุกมุมโลก ไว้เป็นฐานข้อมูลเพื่อใช้ในการอ้างอิง หากอนาคตข้างหน้า มีการปรับโฉมกฎหมายเกี่ยวกับกัญชาไปในทิศทางที่ต่างออกไป และนี่คือ 10 อันดับเมืองใหญ่ ที่มีจำนวนผู้ใช้กัญชามากที่สุด ณ ขณะนี้ อันดับ 1. นิวยอร์ก / สหรัฐอเมริกา มหานครนิวยอร์กมีผู้คนใช้กัญชามากที่สุดในโลกที่ 77.44 เมตริกตัน โดยมีพื้นที่ให้บริการบางส่วนเท่านั้น ที่ได้รับการรับรองอย่างถูกกฎหมายในการใช้กัญชาอย่างเสรี ในเรทราคาขายอยู่ที่ 10.76 ดอลลาร์ต่อ 1 กรัม เมืองแห่งนี้สามารถสร้างรายได้ 156.4 ล้านดอลลาร์ต่อปี จากการเก็บภาษีกัญชา โดยเก็บภาษีในอัตราเดียวกันกับบุหรี่ อันดับ 2. การาจี / ปากีสถาน การใช้กัญชาเป็นสิ่งผิดกฎหมายในปากีสถาน แต่จาการสำรวจของสหประชาชาติ พบมีผู้ใช้กัญชาทั้งดูดและใช้เป็นยามากกว่า 4 ล้านคน การาจีเมืองใหญ่ของปากีสถานใช้กัญชาในภาพรวมกว่า 41.9 เมตริกตันต่อปี ในราคาขายที่ 5.32 ดอลลาร์ต่อ 1 กรัม ด้วยตัวเลขดังกล่าวสามารถทำให้เมืองนี้สร้างรายได้จากภาษีประจำปีประมาณ 135.4 ล้านดอลลาร์ แค่เพียงทำกัญชาให้ถูกกฎหมาย อันดับ 3. นิวเดลี / อินเดีย เมืองแห่งนี้ขึ้นชื่อเรื่องราคากัญชาถูกที่สุดในโลก ที่ราคา 4.38 ดอลลาร์ต่อ 1 กรัม และเช่นเดียวกันนิวเดลีกำลังสูญเสียรายได้จากภาษีที่ควรจะเกิดขึ้นอย่างมากมายราวๆ 101 ล้านดอลลาร์ต่อปีเลยทีเดียว เพียงแค่มีกฎหมายออกมารับรอง ที่นิวเดลีมีผู้ใช้กัญชาคิดเป็น 38.26 เมตริกตันในปีที่ผ่านมา อันดับ 4. ลอสแองเจลิส / สหรัฐอเมริกา การใช้กัญชาได้รับการรับรองอย่างถูกต้องในรัฐแคลิฟอร์เนีย เมืองลอสแองเจลิสมีร้านขายกัญชารายใหญ่มากถึง 156 แห่ง และเพิ่มขึ้นต่อเนื่องอีก 46 แห่ง ในช่วงที่ผ่านมา ผู้ใช้กัญชาสายเขียวสามารถเดินหาซื้อได้ง่ายๆ ในทุกเส้นถนน การใช้กัญชาในเมืองนี้มีปริมาณสูงถึง 36 เมตริกตัน มีเรทราคาขายยืนพื้นอยู่ที่ 8.14 ดอลลาร์ ต่อ 1 กรัม อันดับ 5. กรุงไคโร / อียิปต์ เมืองหลวงของอียิปต์มีการใช้กัญชามากถึง 32.59 เมตริกตันต่อปี แม้ว่าจะมีราคาขายแพงอย่างมากที่ 16.15 ดอลลาร์ต่อ 1 กรัม ยิ่งไปกว่านั้นการใช้กัญชาในเมืองนี้ยังเป็นเรื่องผิดกฎหมาย จึงทำให้กรุงไคโรสูญเสียรายได้จากการเก็บภาษีมากถึง 385 ล้านดอลลาร์ไปอย่างน่าเสียดาย หากแต่เพียงพวกเขาสร้างข้อกฎหมาย และเรียกเก็บภาษีกัญชาในอัตราเดียวกันกับภาษีบุหรี่ อันดับ 6. มุมไบ / อินเดีย มุมไบคือเมืองที่คุณสามารถซื้อกัญชาได้ในราคาเพียง 4.57 ดอลลาร์ต่อ 1 กรัม ผู้คนในเมืองนี้ใช้กัญชา 32.38 เมตริกตันในแต่ละปี ซึ่งประเทศอินเดียอนุญาตให้ปลูกกัญชา เพื่อวัตถุประสงค์ในภาคส่วนอุตสาหกรรมและทางการแพทย์เพียงเท่านั้น และก็ยังเป็นเรื่องเดิมๆ ที่พวกเขาขาดโอกาสสร้างทุนทางการเงินมหาศาล เพียงแค่ออกกฎหมายรับรองการใช้กัญชาอย่างถูกต้อง อันดับ 7. ลอนดอน / สหราชอาณาจักร ก็เหมือนกับที่อื่นๆ ลอนดอนยังไม่เปิดรับรองกฎหมายให้กับสายเขียว การใช้กัญชายังเป็นเรื่องผิด แม้เจ้าหน้าที่รัฐจะรู้ดีว่าภาษีต่อปีที่มาจากกัญชาจะมากถึง 237 ล้านดอลลาร์ เพียงแค่ทำให้กัญชาสง่างามเหมือนๆ กับอัตราภาษีของบุหรี่ ราคาขายกัญชาในลอนดอนต่อ 1 กรัม อยู่ที่ 9.2 ดอลลาร์ และเมื่อปีที่แล้วเมืองแห่งนี้ใช้กัญชามวลรวมทั้งสิ้นไปกว่า 31.4 เมตริกตัน อันดับ 8. ชิคาโก / สหรัฐอเมริกา ชิคาโกเป็นหนึ่งใน 3 เมืองหลักของอเมริกาที่มีผู้ใช้กัญชามากที่สุด ราคาขายต่อ 1 กรัมอยู่ที่ 11.46 ดอลลาร์ โดยประมาณในแต่ละปีการใช้กัญชามวลรวมอยู่ที่ 24.54 เมตริกตัน ที่สำคัญมีฟาร์มปลูกกัญชากว่า 10 แห่งอยู่ทั่วรัฐแห่งนี้ ซึ่งสามารถสร้างรายได้จากภาษีประจำปีได้เกือบ 120 ล้านดอลลาร์ เพียงแค่ทำให้กัญชาถูกกฎหมาย อันดับ 9. มอสโก / รัสเซีย กัญชามีราคาแพงเอาเรื่องที่มอสโก เรทราคาอยู่ที่ 11.84 ดอลลาร์ ต่อ 1 กรัม แต่ราคาที่สูงไม่ได้ทำให้เมืองหลวงของรัสเซียหลุดจากท็อป 10 ไปได้ มีการใช้กัญชาในจำนวนมากถึง 22.87 เมตริกตัน และเหมือนๆ กับเมืองหลวงอื่นๆ มอสโกจะมีรายได้มากถึง 129 ล้านดอลลาร์ต่อปี จากการเก็บภาษีการใช้กัญชาในอัตราเดียวกันกับภาษีบุหรี่ อันดับ 10. โทรอนโต / แคนาดา ในตัวเมืองโทรอนโตมีการรับรองการใช้กัญชาบ้างแล้วในบางพื้นที่ให้บริการ ราคาขายอยู่ที่ 7.82 ดอลลาร์ต่อ 1 กรัม ในแต่ละปีมีผู้ใช้กัญชารวมแล้วกว่า 22.75 เมตริกตัน หากแคนาดาอนุญาตให้ผู้คนในโทรอนโตใช้กัญชาได้อย่างเสรีและถูกต้อง และเรียกเก็บภาษีในอัตราเดียกันกับบุหรี่ยี่ห้อดัง เมืองแห่งนี้จะมีรายได้จากภาษีประจำปีถึง 124 ล้านดอลลาร์ จะเห็นได้ว่าหากมีการรับรองกฎหมายที่ถูกต้อง ในแต่ละหัวเมืองจากทั่วทุกมุมโลก สามารถจะมีรายได้ในการเรียกเก็บภาษีกัญชาเป็นจำนวนเงินที่น่าพอใจ และสามารถนำเงินดังกล่าวไปสร้างประโยชน์ได้ไม่มากก็น้อย จึงเป็นเหตุผลที่จะต้องสร้างมุมมองใหม่เกี่ยวกับการภาพรวมของกัญชา เพื่อให้เปิดกว้างมากขึ้น เหรียญมีสองด้านเสมอ เรื่องของกัญชาก็อยู่ในบริบทเดียวกัน
#
Reports

Meta ผู้ดูแล Facebook ไฟเขียวโฆษณา CBD แต่ยังคงคุมเข้มอยู่

Meta แพลตฟอร์มยักษ์ใหญ่โลกโซเชียลมีเดีย เจ้าของ Facebook และ Instagram ได้ปรับปรุงนโยบายการโฆษณาสำหรับผลิตภัณฑ์กัญชา และ CBD โดยนโยบายใหม่อนุมัติให้มีการส่งเสริม CBD ที่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายของสหรัฐอเมริกา ตามประกาศของ Meta อย่างไรก็ตาม... Meta ยังคงแบนการโฆษณา “ส่งเสริมหรือเสนอขายผลิตภัณฑ์ THC หรือผลิตภัณฑ์กัญชา ซึ่งมีผลต่อสภาวะอารมณ์ความรู้สึกของผู้ใช้” จากนโยบายฉบับเต็ม Meta ให้คำแนะนำในเอกสาร เป็นการไกด์ไลน์สำหรับผู้โฆษณาในสหรัฐอเมริกา ว่าสามารถโปรโมตหรือเสนอ ขาย "ผลิตภัณฑ์ CBD ที่ได้รับอนุญาตถูกต้องตามกฎหมาย" แต่ต้องได้รับการรับรองโดย LegitScript และได้รับการอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษรจาก Meta (ปัจจุบัน LegitScript รับรองเฉพาะผลิตภัณฑ์ CBD ที่ไม่สามารถกินได้) เพียงเท่านั้น “คุณได้รับอนุญาตให้ความรู้ สนับสนุน หรือประกาศบริการสาธารณะเกี่ยวกับ CBD และผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง ตราบใดที่โฆษณาของคุณ ไม่ส่งเสริมหรือเสนอผลิตภัณฑ์ต้องห้ามสำหรับการขาย” เอกสารรายละเอียดของ Meta ให้ข้อมูลเพิ่มเติม Meta ยังเน้นย้ำด้วยว่าการโฆษณาสำหรับ CBD หรือผลิตภัณฑ์จากกัญชาต้องไม่รวมถึง “การกล่าวอ้างใดๆ ในการรักษา การป้องกัน บรรเทา วินิจฉัยโรค หรือสภาวะทางการแพทย์ในมนุษย์หรือสัตว์” นโยบายดังกล่าวของ Meta เกิดขึ้นหลังกจากที่ Twitter ประกาศผ่อนปรนกฎการโฆษณาในอุตสาหกรรมกัญชาเมื่อต้นปีที่ผ่านมา ซึ่ง Twitter ไม่เหมือนกับ Meta ตรงที่ Twitter อนุญาตให้มีการโฆษณาส่งเสริมผลิตภัณฑ์ THC ในขอบเขตที่รับได้ แม้กระทั่ง Google เอง ในบางกรณีก็ยังลดข้อจำกัดบางประการ เพื่อสร้างความยืดหยุ่นสำหรับโฆษณากัญชาและ CBD
#
Reports

Thailand เจ๋งสุดๆ ประเทศแรกในเอเชีย ทำกัญชาให้ถูกกฎหมาย

แม้เส้นทางนี้ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ แต่วิถีแห่งสายเขียวได้ผลิดอกแล้วในแผ่นดินขวานทอง ทำให้เรากลายเป็นเบอร์แรกลำดับที่หนึ่งในเอเชียไปโดยปริยาย และมีการคาดการณ์จากสื่อต่างประเทศหลายสำนัก ชี้เป้าไปในทางเดียวกันว่าประเทศไทยสามารถกระตุ้นอุตสาหกรรมสายเขียวได้ถึง 2 พันล้านดอลลาร์ หลักจากผลักดันกัญชาให้ถูกกฎหมายได้ แต่การใช้กัญชาเพื่อสันทนาการ ทั้งผู้ใช้และผู้ประกอบการ ต้องอยู่ภายใต้กฎข้อบังคับของกฎหมายอย่างเคร่งครัด ในภาพรวมเลยประมาณว่าประเทศไทยอนุญาตให้ใช้กัญชาเพื่อวัตถุประสงค์ทางการแพทย์เป็นหลัก หากนักท่องเที่ยวมาเพื่อการรักษาพยาบาลหรือมาหาผลิตภัณฑ์เกี่ยวข้องกับสุขภาพ ก็ไม่ใช่ปัญหาสยามเมืองยิ้มไฟเขียวเสมอ เพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมกัญชาในท้องถิ่น มีการแจกต้นกัญชา 1 ล้านต้นให้ผู้คนนำไปปลูกไว้ที่บ้าน โดยควบคุมจำกัดสาร THC ไว้ไม่เกิน 0.2% ซึ่งเป็นส่วนผสมออกฤทธิ์ทางจิตที่ทำให้เมาได้ ใครก็ตามที่ปลูกพืชสีเขียวไว้ที่บ้าน จะต้องลงทะเบียนกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาผ่านแอป “Plant Ganja” ของรัฐบาล ที่สำคัญการเปลี่ยนแปลงข้อกฎหมายที่เกิดขึ้นส่งผลมีการปล่อยตัวนักโทษประมาณ 3,000 คน ที่ถูกตัดสินว่ามีความผิดเกี่ยวกับกัญชาก่อนหน้านี้ การขออนุญาตผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่าย หรือมีไว้ครอบครอง กัญชาและกระท่อม ให้สิทธิเฉพาะ 1. หน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่ศึกษาวิจัยหรือการเรียนการสอนวิชาด้านการแพทย์ และ เกษตรศาสตร์ 2. หน่วยงานรัฐที่มีหน้าที่ป้องกัน ปราบปราม และแก้ปัญหายาเสพติด หรือสภากาชาดไทย 3. ผู้ประกอบวิชาชีพเครือข่ายแพทย์ ทั้งไทย และหมอพื้นบ้าน ตามเงื่อนไขที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด 4. สถาบันอุดมศึกษาที่ศึกษาและวิจัย และเรียนด้านการแพทย์ 5. ผู้ประกอบอาชีพเกษตรที่รวมตัวเป็นวิสาหกิจชุมชน ซึ่งจดทะเบียนตามกฎหมาย 6. ผู้ประกอบการขนส่งสาธารณะระหว่างประเทศ 7. ผู้ป่วยเดินทางระหว่างประเทศ ที่มีความจำเป็นต้องใช้ยาเสพติดติดตัว 8. ผู้ขออนุญาตที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเห็นชอบ ทั้งนี้ผู้ที่ได้รับอนุญาตสามารถส่งต่อให้กับทายาทหรือผู้ได้รับความยินยอมได้ กรณีที่ผู้ได้รับอนุญาตเสียชีวิตก่อนใบอนุญาตสิ้นอายุ อย่างไรก็ตาม... รัฐบาลไทยยังไม่มีท่าทีในการประกาศแผนการใดๆ อย่างชันเจน ที่จะควบคุมหรือดำเนินการตรวจสอบไปถึงบรรดาผู้ปลูกไว้ในบ้าน รวมไปถึงการนำไปใช้เพื่อเสพหรือกินอย่างไร เพราะหากอยากทำกระบวนการนี้ให้เกิดขึ้นได้ จำเป็นต้องใช้เจ้าหน้าที่และงบประมาณอีกไม่น้อย สถาบันกัญชาทางการแพทย์ ก็ขยับตัวออกมาเตือนชาวสายเขียวหลังจากกัญชามีความเสรี “กัญชาถ้าใช้ไม่พอดี อาจมีโทษมากกว่าคุณประโยชน์ การตอบสนองต่อการใช้กัญชา แปรผันไปตามขนาด ปริมาณ และตัวบุคคล ซึ่งแต่ละคนมีการตอบสนองต่อสารในกัญชา เมื่อได้รับเข้าสู่ร่างกายแตกต่างกันไป เมื่อใช้กัญชาแล้วภายใน 6 ชั่วโมง ไม่ควรขับรถหรือทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักรต่างๆ หากมีอาการปากแห้ง คอแห้ง ให้ดื่มน้ำมากๆ หากมีอาการมึนเมา ให้ดื่มน้ำมะนาวผสมน้ำตาลหรือน้ำผึ้ง” สิ่งที่สำคัญทางทีม GREENWIRE มองว่า “กัญชาเสรี” ต้องไม่เป็นเพียงประโยชน์สำหรับคนบางกลุ่ม ด้วยเหตุผลเม็ดเงินอันมหาศาลอาจเปลี่ยนบริบททั้งหมดไปได้ หากภาครัฐไม่บริหารจัดการแบบโปร่งใสชัดเจน ทั้งต่อหน้าและลับหลัง
#
Reports

ธุรกิจสายเขียว กัญชาไทย แสงสว่างปลายอุโมงค์

เพื่อนๆ ทราบไม่ว่าในปี 2565 ที่ผ่านมา ยอดขายสาร CBD ทั่วโลก ในกลุ่มกัญชาทางการแพทย์เพื่อใช้สำหรับผู้ใหญ่ มีมูลค่าสูงถึง 45 พันล้านเหรียญสหรัฐ และมีโอกาสทะยานสูงขึ้นไปแตะระดับ 101 พันล้านเหรียญสหรัฐภายในปี 2569 ดังนั้นความต้องการผลักดันให้กัญชาเกิดความเสรีจึงดีดตัวเร่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในแต่ละประเทศและรัฐต่างๆ เริ่มอยากผลักดันให้กัญชาเข้าโหมดถูกกฎหมาย ประเทศไทยเองก็ขานรับกระแสนี้อย่างเปิดเผย โดยกัญชาได้ถูกปลดล็อคตามพระราชบัญญัติกัญชา-กัญชง ว่าด้วยเรื่องที่สามารถครอบครอง เพาะปลูก และจัดจำหน่าย รวมไปถึงการบริโภคได้ ซึ่งการปลดล็อคกัญชาสามารถเพิ่มศักยภาพทางการเกษตรและการท่องเที่ยวได้เป็นอย่างดี และด้วยสถานการณ์ภาพรวมของทั่วโลกเป็นแบบนี้ โปรแกรมกัญชาในบ้านเราจึงเริ่มมีแสงสว่างเกิดขึ้นที่ปลายอุโมงค์ แสงสว่างนี้จะเจิดจ้ามากขึ้น หากประเด็นความท้าทายเหล่านี้ ได้รับการขับเคลื่อนผลักดันอย่างเต็มรูปแบบ ทั้งจากภาครัฐและตัวผู้ประกอบการเอง ใบอนุญาต ธุรกิจสายเขียวจำต้องให้ความสำคัญในประเด็นนี้เป็นอย่างแรก รัฐบาลไทยได้ประกาศข้อกำหนด ให้ขอใบอนุญาตในการดำเนินการธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับกัญชา ไม่ว่าจะเป็นการนำเข้า ส่งออก เพาะปลูก การผลิตและการขายต้นกัญชา โดยวัตถุประสงค์ของการออกใบอนุญาตคือ เน้นลดการเพาะปลูกและจำหน่ายอย่างผิดกฎหมาย รวมไปถึงก่อให้เกิดการบริโภคกัญชาอย่างปลอดภัย คุณสมบัติ กิจการกัญชาจะต้องเป็นของบริษัทสัญชาติไทยเท่านั้น การถือหุ้นในการนำเข้า ส่งออก การผลิต และการขายกัญชา ในข้อกำหนดที่เข้มงวดนี้ เป็นไปตามมาตรา 46 ในพระราชบัญญัติการป้องกันและการโฆษณาสมุนไพรไทย ธุรกิจสายเขียวในประเทศไทยอนุญาตให้จัดตั้งบริษัทภายใต้กฎหมายไทยเท่านั้น และต้องมีบุคคลสัญชาติไทยเป็นผู้ถือหุ้น 2 ใน 3 และต้องมีบุคคลสัญชาติไทยอยู่ในตำแหน่งผู้บริหาร 2 ใน 3 ด้วยเช่นกัน โฆษณาผลิตภัณฑ์กัญชา หนีไม่ออกที่ธุรกิจสายเขียว จะต้องเผชิญความยากลำบากอย่างมาก เพื่อฝ่าด่านข้อกำหนดทางกฎหมาย เกี่ยวกับการโฆษณาผลิตภัณฑ์กัญชาเพื่อการขาย ธุรกิจกัญชาควรตระหนักถึงข้อจำกัดนี้ รวมไปถึงการติดตามข่าวสาร ความเคลื่อนไหวในนโยบายที่ออกมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อหลีกเลี่ยงการละเมิดข้อกำหนด ในการโฆษณาเพื่อขายกัญชา สร้างความน่าเชื่อถือ ธุรกิจกัญชาควรเข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย ด้วยผลิตภัณฑ์และบริการที่น่าเชื่อถือ การดำเนินการอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ประกอบกับความน่าเชื่อถือ เป็นสิ่งสำคัญในตลาดกัญชา ความน่าเชื่อถือเป็นรูปแบบทรงประสิทธิภาพมากที่สุด เพื่อให้แน่ใจว่าลูกค้าและกลุ่มเป้าหมาย จะไม่มีทัศนคติด้านลบต่อผลิตภัณฑ์และบริการ ธุรกิจสายเขียวจำเป็นต้องสร้างความมั่นใจว่า การผลิต การจำหน่าย และการบริการ เป็นไปตามกฎหมายและข้อบังคับต่างๆ  เน้นให้สาระความรู้ ธุรกิจสายเขียวสามารถสร้างเนื้อหาให้ความรู้ ไม่ว่าจะเป็นการให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ หรือจัดทำอินโฟกราฟิกไปยังกลุ่มเป้าหมาย แทนการโปรโมตสินค้าโดยตรง แต่ต้องยึดโยงกับผู้ใช้กัญชาด้วยการส่งข้อมูลที่เน้นสาระความรู้ เพื่อให้ตระหนักถึงวิธีใช้กัญชาอย่างถูกต้องและปลอดภัย ผลสำรวจและการแชร์ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ ส่งผลดีต่อธุรกิจสายเขียว ที่จะช่วยสร้างการรับรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ การเปิดรับทางกฎหมาย การได้มาซึ่งใบอนุญาต ความครบพร้อมด้วยคุณสมบัติตามข้อบังคับ แนวทางโฆษณาประชาสัมพันธ์ที่เป็นไปได้ สามารถสื่อสารความน่าเชื่อถือไปยังตัวผู้ประกอบการ ที่เน้นสร้างเนื้อหาสาระให้ความรู้อันเป็นประโยชน์ องค์ประกอบเหล่านี้จะทำให้แสงสว่างปลายอุโมงค์ ของธุรกิจสายเขียวชัดเจนมากขึ้นเรื่อยๆ แม้เพื่อนๆ อาจคิดว่าทางทีม GREENWIRE มโนไปเองหรือเปล่า คำตอบคือ เปล่าเลย บทความบางส่วนของสื่อ BUSINESS TODAY ยืนยันอ้างอิงได้เป็นอย่างดี “ตลาดกัญชาในประเทศไทย เป็นตลาดใหม่มีโอกาสเติบโตสูง ประเทศไทยคือหนึ่งในประเทศที่มีชื่อเสียง เกี่ยวกับกฎหมายคุมเข้มเรื่องกัญชาเป็นอย่างมาก ต่อการเปลี่ยนแปลงตัวบทกฎหมายที่เกิดขึ้น ได้เปิดทางให้ตลาดกัญชามีการพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว  ซึ่งคาดการณ์ว่ามูลค่าตลาดของกัญชาเพื่อการแพทย์จะสูงถึงกว่า 7,000 ล้านบาท ภายในปี พ.ศ. 2567 และมูลค่าตลาดของกัญชาที่ใช้เพื่อความเพลิดเพลินอยู่ที่ 14,000 ล้านบาทภายในช่วงเวลาเดียวกัน”
#
Reports

เยอรมนีดันสุดตัว ทำกัญชาสันทนาการ ให้ถูกกฎหมาย

รัฐบาลเยอรมนีเผยแพร่ร่างกฎหมายในแนวคิดหลักๆ ผลักดันเข้าสู่กระบวนการทำให้กัญชาถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งจะควบคุมการปลูกกัญชาแบบส่วนตัวและส่วนรวม เพื่อวัตถุประสงค์ในการสันทนาการผักผ่อนหย่อนใจ ตัวบทกฎหมายว่าด้วยเรื่องการวางรากฐานสำหรับการเพาะปลูกส่วนตัวและส่วนรวม ในรูปแบบ “สมาคมการเพาะปลูก” ที่ไม่แสวงหาผลกำไร ซึ่งสมาชิกจะได้รับอนุญาตให้ปลูกกัญชาร่วมกัน และแบ่งปันกันในจำนวนที่กำหนดไว้ เพื่อใช้กัญชาในการสันทนาการหรือบริโภคของตนเอง ร่างกฎหมายฉบับนี้คาดว่าจะถึงคณะรัฐมนตรีกลางเพื่อขออนุมัติโดยเร็ววัน ซึ่งมีการคาดหวังให้สามารถผ่านกฎหมายและมีผลบังคับใช้ก่อนสิ้นปี 2023 นี้ รายละเอียดของร่างกฎหมายประกอบด้วย จำกัดการปลูกในบ้านให้มีกัญชา 3 ต้นต่อผู้ใหญ่หนึ่งคน จำกัดการครอบครองกัญชาตามกฎหมายไว้ที่ 25 กรัมต่อผู้ใหญ่หนึ่งคน สมาชิกในสมาคมการเพาะปลูกกัญชา จำกัดการครอบครองไว้ที่ 25 กรัมต่อวัน มากที่สุด 50 กรัมต่อเดือน ผู้ที่มีอายุไม่เกิน 21 ปีจำกัดปริมาณสูงสุด 30 กรัมต่อเดือน โดยจำกัด THC ไว้ที่ 10% ห้ามดำเนินการโฆษณาทั่วไป และไม่ให้มีสปอนเซอร์ สำหรับกัญชาและสมาคมผู้เพาะปลูก เยอรมนีจะเดินหน้าต่อทันที โดยจะมีการแนะนำกฎหมายฉบับที่ 2 เชื่อมโยงกับโครงการนำร่องระดับภูมิภาค ที่เรียกขานกันว่า “เสาหลักที่ 2” ปักหลักทำให้กัญชาถูกต้องตามกฎหมาย โดยกฎหมายฉบับที่ 2 คาดหวังประสานตรงไปยังคณะกรรมาธิการยุโรปและประเทศสมาชิกในสหภาพยุโรปด้วยเช่นกัน